ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องของสีในขบวนการพิมพ์ เราจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องทฤษฎีสีของแสงกันเสียเสียก่อน แสงใน Color space นั้นจะมีจำนวนเป็นล้านๆ สี และแสงจะมีลักษณะเป็นความยาวคลื่น แสงที่เราสามารถมองเห็นได้ (Visible color)คือแสงจากสีของรุ้งกินน้ำที่เราเรียนรู้มา คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง

จากที่เราได้เรียนรู้มาว่า รุ้งกินน้ำมี 7 สี นั้น เกิดจากแสงอาทิตย์กระทบกับละอองน้ำในอากาศแล้วเกิดการหักเหของแสงทำให้เกิดเป็นสีขึ้นมา และเรายังรู้มาอีกว่า แม่สีของแสงนั้นมีเพียง 3 สีเท่านั้น คือ Red Green และ Blue การที่เรามองเห็น รุ้งกินน้ำถึง 7 สีนั้น ก็เกิดจากการผสมในสัดส่วนที่แตกต่างกันของทั้งสามสีนี้ และถ้าทั้ง 3 สีนี้มาผสมกันในสัดส่วนที่เท่า ๆกัน ก็จะได้แสงสีขาว ในทางตรงข้ามกัน ถ้าไม่มีทั้ง 3 สีนี้เลย ก็จะเป็นสีดำ หรือมืดนั่นเอง และสี สารพัดสี นับเป็นหมื่นเป็นพัน หรือจะเป็นล้านๆเฉดสีที่เรามองเห็นนี้ ก็เกิดมาจากการผสมของแม่สีทั้งสามสีนี้ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน จากองค์ความรู้ในเรื่องนี้ ทำให้เรานำไปสร้างจอทีวี หรือจอมอนิเตอร์และโปรเจคเตอร์ขึ้นมาในยุคปัจจุบัน ดังนั้น สีลักษณะนี้เราจึงเรียกว่า Additive primary color คือเมื่อทั้ง 3 สีมารวมกันแล้วจะได้แสงเป็นสีขาว และไม่มีแสงทั้ง 3 สีนี้เลย ก็เป็นสีดำ (มืด)

สีดำ (มืด)

แล้วสีในขบวนการพิมพ์ล่ะ มันคืออะไร?

ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องสีในขบวนการพิมพ์นั้น เราจะต้องเข้าใจในวัตถุรอบๆตัวเราเสียก่อนว่า สาเหตุที่เรามองเห็นวัตถุเป็นสีต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น วัตถุสีแดง ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สาเหตุที่เรามองเห็นเป็นสีแดงก็เพราะว่า เมื่อแสง(สีขาว)มากระทบกับวัตถุสีแดง วัตถุสีแดงนั้นดูดซับแสงสีน้ำเงินกับเหลืองเอาไว้ ให้สะท้อนออกมาให้สายตาเราเห็นได้เพียงสีเดียว คือสีแดง ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า วัตถุสีต่าง ๆที่อยู่รอบ ๆตัวเรานี้ เกิดจากแสงมากระทบกับวัตถุนั้น ๆ แล้วส่วนหนึ่งจะถูกดูดซับสีส่วนหนึ่งเอาไว้ แล้วสะท้อนสีอีกส่วนหนึ่งมาที่ตาเรา เราก็จะมองเห็นวัตถุนั้นๆ มีสีสรรที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าวัตถุนั้น ๆ จะดูดซับ และสะท้อนสีอะไรออกมาในปริมาณเท่าใด สีที่เกิดขึ้นในลักษณะแบบนี้ เราเรียกว่า Subtractive primary color แม่สีของ Subtractive primary color นี้มี 4 สี คือ Yellow Magenta Cyan และ Black (K)

ตามทฤษฎีแล้วเมื่อแม่สีทั้งสามสีคือ Cyan Magenta Yellow มาผสมกันแล้ว จะต้องออกมาเป็นสีดำ แต่เนื่องจากว่าเราไม่สามารถที่จะหา Pigment ที่มีความบริสุทธิ์ ที่จะเป็นตัวแทนของแม่สีทั้ง 3 สีนี้ได้ ผลที่ออกมาจึงเพียงเป็นแค่สีเทาๆ ไม่ดำสนิท ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องมีสีดำ (Black หรือ Key) เข้ามาช่วยในส่วนที่เป็นสีดำ หรือในที่มืด และในทางตรงข้าม ถ้าพื้นที่ใดไม่มีสีทั้ง 3 สีเลย ก็จะเป็นสีขาว หรือในอีกมิติหนึ่ง เมื่อสีทั้ง 4 สีนี้มารวมกันในอัตราส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ก็จะก่อให้เกิดเป็นภาพสีสันที่หลากหลายขึ้นมา และแม่สีชนิดนี้ คือแม่สีของหมึกพิมพ์ที่ใช้ในขบวนการพิมพ์ และเราเรียกหมึกที่ใช้ในการพิมพ์ทั้ง 4 สีนี้ว่า Process color (CMYK)

จากสีของทั้งสองลักษณะนี้ เราลองมาดูมิติของสีจาก Color gamut ตามภาพนี้ จะเห็นว่าขอบเขตของขีตความสามารถของตาเราที่สามารถมองเห็นได้ จะมีมากกว่าแหล่งกำเนิดแสง RGB และและแหล่งกำเนิดแสง RGB ก็จะมากกว่าสี CMYK

ความแตกต่างในขีดความสามารถในการถ่ายทอดสีระหว่าง RGB กับ CMYK นี้แหละที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่นักออกแบบสิ่งพิมพ์ เพราะภาพที่เห็นจากหน้าจอ จะไม่เหมือนกับงานที่พิมพ์ออกมา ดังนั้น นักออกแบบสิ่งพิมพ์ จะต้องมีความเข้าใจในข้อแตกต่างนี้ เพราะว่า คุณทำงานอยู่บน RGB แต่ว่ากระบวนสุดท้ายอยู่บน CMYK ดังนั้น ก่อนที่คุณจะส่งไฟล์ไปให้โรงพิมพ์ คุณจะต้องแปลงไฟล์ให้เป็นโหมด CMYK ทั้งหมดเสียก่อน

ความแตกต่างระหว่าง RGB กับ CMYK ดังจะเห็นจากภาพด้านล่าง

โรงพิมพ์รับไฟล์งานไปแล้ว เอาไปทำอย่างไร

เมื่อโรงพิมพ์รับไฟล์งานจากเราไป หลังจากที่ตรวจเช็คไฟล์เรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นหนังสือยก ก็จะทำการวางเลย์เอาท์จัดหน้ายกให้เป็นแบบ Printer spread คือแต่ละหน้าจะอยู่คนละที่ละทาง หันหัวชนกัน แต่เมื่อพิมพ์แล้วพับยก เลขหน้าก็จะเรียงกันตามลำดับ หรือที่เรียกว่า Reader spread เมื่อจัดหน้าเสร็จแล้ว ก็จะoutput ออกมาโดยผ่าน RIP software (Raster image processor)เพื่อจะแยกสีและสร้างเม็ดสกรีน(Screen dot)ออกมาเป็น 4 สี ถ้าเป็นงาน digital printing ก็จะoutput ออกทางเครื่อง printer ได้เลย แต่ถ้าเป็นการพิมพ์ด้วยระบบออฟเซ็ต ก็จะผ่านไปยังเครื่องออกฟิล์ม(Image setter) หรือเครื่องยิงเพลท(CTP) โดยที่เพลทแต่ละแผ่น ก็จะใช้สำหรับพิมพ์หมึกพิมพ์สี Y M C K (Process color) ตามลำดับ และเมื่อพิมพ์ครบ 4 สีแล้ว ก็จะเป็นภาพสีธรรมชาติตามที่เราออกได้แบบไว้ ตามภาพตัวอย่างข้างล่างนี้

จะสังเกตเห็นว่า เมี่อเราส่องเข้าไปดูในภาพใกล้ ๆ ก็จะเห็นเป็นจุดเม็ดสีเล็กๆเรียกว่า Screen dot ของแต่ละสีเต็มไปหมด

สีที่นอกเหนือจาก Process color นี้มีไหม?

ก็ในเมื่อ ในชีวิตจริงของเรา นอกเหนือจากสี CMYK แล้วยังมีสีอื่น ๆ อีกมามาย ไม่ว่าจะเป็น สีทอง สีเงิน สีสะท้อนแสง และอื่น ๆ แล้วถ้าเราจะสั่งสีเหล่านี้บนสิ่งพิมพ์ของเราจะทำอย่างไร?

ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจกับขบวนการแยกสี(Color separation)กันเสียก่อนว่า ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการแยกสีจะทำการอ่านแล้วแยกออกมาเป็น 4 สี Y M C K ในแต่ละสีก็จะประกอบไปด้วยจุดเล็กๆ หรือเส้น ลวดลายต่าง ๆ เมื่อเรานำมาพิมพ์ทับซ้อนกันทั้ง 4 สี ก็จะเกิดเป็นภาพสีเหมือนธรรมชาติขึ้นมา การที่เกิดเป็นสีได้หลากหลายสีนั้นเป็นเพราะว่าเม็ดสีเล็กๆที่อยู่ในภาพเหล่านั้นสะท้อนมายังตาเรา ทำให้ตาเรามองเป็นสีต่าง ๆ หลากหลายสีขึ้นมา ถ้าเราต้องการสีพื้น หรือตัวหนังสือออกเป็นสีแดง เราอาจจะสั่งหรือเลือกสีแดงจากหน้าจอ หรืออาจจะสั่งว่า M100 Y100 ก็จะได้สีแดงออกมา

ในการทำให้เกิดสีแดงขึ้นมาแบบนี้ เป็นการพิมพ์สี Magenta 100% + Yellow 100% ทับกัน หรือว่าถ้าเราต้องการให้เกิดเป็นสีต่างๆ เราก็สามารถเลือกสีเหล่านี้ได้จาก Color chart

ซึ่งใน Color chart ก็จะบอกว่า สีในแต่ละสีจะประกอบไปด้วยสีใน Process color แต่ละสี สีละกี่ %

สีพิเศษ(Spot color) คืออะไร?

สีพิเศษในขบวนการพิมพ์ ก็คือ สีที่เกิดจากการนำ pigment ของสี นำมาผสมให้เข้ากันก่อนที่จะนำไปพิมพ์ เช่นสีแดง ถ้าเราพิมพ์ใน Process color เราก็สั่ง M100 + Y100 แต่ถ้าเป็นสีพิเศษ เราก็นำเนื้อหมึกพิมพ์สี Magenta และสี Yellow อย่างละเท่าๆกันมาผสมให้เข้ากัน แล้วใส่ในรางหมึกพิมพ์เป็นสีที่ 5 ก็จะได้ออกมาเป็นสีแดงเหมือนกัน

ในการสั่งพิมพ์สีพิเศษนี้ ที่เป็นสากลเขามักจะสั่งสีที่อ้างอิงกับตารางสีของ Pantone เป็นหลัก โดยตารางสี(Color guide)ของ Pantone ที่ใช้ในวงการพิมพ์นี้เรียกว่า PMS color ย่อมาจาก Pantone matching system ซึ่งใน Color guide ของ PMS color นี้ ก็จะบอกว่า Pantone No. นี้ ประกอบไปด้วยสี Process color(C M Y K) สีละกี่ % หรืออาจจะมีสีอื่น ๆผสมเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดเป็นสีที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้กับโรงพิมพ์ใช้ในการผสมหมึกให้ได้สี ตามต้องการ

ตัวอย่างการผสมหมึก PMS color ของช่างพิมพ์ https://youtu.be/0zcX06hgNEg

จากตัวอย่าง PMS color guide ข้างบน จะเห็นว่า มี Pantone No. แล้วยังมีลงท้ายด้วย C และ U ทั้งนี้เพราะว่าสีนั้นๆจะต้องใช้พิมพ์บนกระดาษอะไร C หมายถึงพิมพ์บนกระดาษผิวมัน (Coated paper) และ U หมายถึงพิมพ์บนกระดาษผิวด้าน (Uncoated paper)

นอกจากสี Pantone ที่เกิดจากการนำ pigment ของหมึกพิมพ์ Process color (C M Y K)มาผสมกันแล้ว ยังมีหมึกพิมพ์สีต่างๆ ตาม Pantone No. อีกมากมายโดยเฉพาะ รวมทั้งสี เงิน ทอง สีสะท้อนแสงอีก ทำให้ขอบเขตของสีของ Pantone ขยายกว้างออกมามากกว่า CMYK ใน Color gamut ดังในภาพ