ในการกำหนดขนาดของงานพิมพ์ Graphic designer ที่ออกแบบทำไฟล์งานเพื่อที่จะส่งพิมพ์นั้น ในไฟล์งานอย่างน้อยจะต้องมีเส้นขอบของงานอยู่ 3 เส้น ดังนี้

Trim คือเส้นขนาดจริงของงาน เป็นเส้นที่เมื่อพิมพ์งานเสร็จแล้ว จะโรงพิมพ์เจียนตามเส้นนี้ แต่ในไฟล์งานจริงจะไม่มีเส้นนี้อยู่ จึงจำเป็นจะต้องมีมาร์คเจียน (Crop mark) สำหรับให้ช่างตัดมองเห็นเวลาตัดเจียน สาเหตุที่จะต้องมีเส้นนี้ก็เพราะว่าเนื่องจากในขบวนการหลังพิมพ์ จะมีขั้นตอนอีกหลายอย่าง เช่นเคลือบ พับ ตัด เจียน เก็บ เย็บ ไสกาว เย็บลวดเป็นต้น จึงมีโอกาสที่จะผิดเพี้ยนได้มากที่สุด คือ มีโอกาสที่จะเจียนมาก หรือน้อยกว่าเส้น Trim นี้ไป ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีเส้นอีกสองเส้นตามมา ข้างล่างนี้ เพื่อว่า เมื่อตัดเจียนผิดเพี้ยนไป ก็จะยังใช้งานได้อยู่

Margin หรือที่เรียกว่า Safety area เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะใส่ภาพ หรือตัวหนังสือลงไปแล้วก็ยังสามารถมองเห็นได้ เมื่ออาจเกิดความผิดพลาดจากการตัดเจียน

Bleed ที่เราเรียกกันว่าการเผื่อตัดตก หรือการเผื่อเจียน จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ในกรณีที่เราต้องการที่ให้ภาพ พื้น หรือเส้นตัดตก ในขั้นตอนการออกแบบเราจะต้องให้ขอบของภาพ หรือเส้น หรือสีพื้นล้ำจากเส้น Trim ออกมาถึงเส้น Bleed นี้ เพื่อว่าถ้าเจียนผิดพลาดเล็กน้อย ก็จะยังตัดตกอยู่ ระยะห่างระหว่าง Trim กับ Bleed นี้ โดยทั่วไปจะเท่ากับ 3 มม หรือ .118 นิ้ว

จากตัวอย่างงานที่พิมพ์ออกมาจากแท่นพิมพ์แล้วตามข้างบน เส้นเขียว คือเส้นเจียน(Trim) เท่าขนาดจริงของงาน เส้นน้ำเงิน คือเส้นเผื่อเจียน (Bleed) ที่มุมบนซ้าย จะเห็นว่าขอบภาพและพื้นถูกวางให้ล้ำออกมาชนเส้น Bleed เมื่อเจียนเท่าขนาดสำเร็จแล้วก็จะตัดตกออกไป ในงานพิมพ์จริงจะไม่มีเส้นทั้งสองเส้นนี้ แต่จะมีเพียงเส้น Crop mark สีดำอยู่ทั้ง 4 มุมเท่านั้น เพื่อที่จะให้ช่างตัดใช้ในการเจียน